ปรับปรุงอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ทภก.
ท่าอากาศยานภูเก็ต เปิดไฟเขียวโซนใหม่ ยกระดับบริการเต็มรูปแบบ
รู้ไหมว่า ไม่ใช่แค่ กรุงเทพฯ ที่คว้าตำแหน่งสุดยอดเมืองน่าเที่ยวที่สุดในโลกมาครอง แต่ “เกาะภูเก็ต” ก็ยังติดอันดับ 1 ใน 10 เมืองน่าเที่ยวของเอเชียด้วยนะคะ ภูเก็ตมีจุดชมพระอาทิตย์ตกสุดโรแมนติก ชายหาดคลื่นแรงโดนใจนักเล่นเซิร์ฟ สถาปัตยกรรมอาคารแบบชิโน-โปรตุกีส ประเพณีถือศีลกินผัก อาหารท้องถิ่น และไฮไลท์อีกมากมาย ดึงดูดผู้คนทุกมุมโลก ให้มาแลนดิ้งที่นี่
ภูเก็ตสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสูงถึงปีละ 3.41 แสนล้านบาท และจากสถิติของผู้โดยสารที่เดินทางเข้าสู่ท่าอากาศยานภูเก็ต เมื่อเดือนธันวาคม 2560 มีมากถึง 60,000 คนต่อวันเลยทีเดียว ดูเหมือนว่าดีกรีความนิยมคงจะฉุด ไม่อยู่อีกต่อไป เพราะในอนาคตรัฐบาลจะผลักดันให้ภูเก็ตเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart city) โมเดลแรกของประเทศไทยจะมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากมาย แต่การจะก้าวไปสู่เป้าหมายนั้นได้ จำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพอีกหลายด้าน โดยเฉพาะบทบาทของท่าอากาศยานภูเก็ต ซึ่งถือเป็นปราการด่านแรกของภาคใต้ รอต้อนรับแขกผู้มาเยือน
ท่าอากาศยานภูเก็ต เล็งเห็นถึงความสำคัญของการยกระดับมาตรฐานการบริการ ให้ทันสมัย ปลอดภัย และสะดวกรวดเร็ว จึงดำเนินการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ เพื่อรองรับผู้โดยสารทั้งขาออกและขาเข้าได้เต็มประสิทธิภาพ โดยแผนปรับปรุงอาคารฯ ดังกล่าว แบ่งเป็น 2 ระยะด้วยกัน เริ่มจากระยะที่ 1 การปรับปรุงพื้นที่ทางทิศใต้ของอาคาร ซึ่งปรับปรุงเสร็จเรียบร้อย และเปิดใช้งานไปตั้งแต่ปลายปี 2560 ใครที่มีโอกาสไปใช้บริการปีนี้ น่าจะสังเกตเห็นภาพความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง ได้แก่
ชั้น 1 (ผู้โดยสารขาเข้า)
- เพิ่มพื้นที่ 5,000 ตร.ม.
- เพิ่มที่นั่งผู้โดยสาร 200 ที่นั่ง
- เพิ่ม Bus Gate ขาเข้าภายในประเทศ 1 จุด
- มีสายพานรับสัมภาระ 3 เส้น
ชั้น 2 (ผู้โดยสารขาออก)
- เปิดให้บริการสะพานเทียบเครื่องบิน 5 ชุด (Contact Gate 6 – 10) และห้องน้ำ 65 ห้อง
- เพิ่ม Bus Gate 2 จุด
ส่วนระยะ 2 เป็นการปรับปรุงพื้นที่ทางทิศเหนือของอาคาร หลักๆ คือ การเพิ่มพื้นที่บริการผู้โดยสารขาเข้า ชั้น 1 และผู้โดยสารขาออกชั้น 2 พร้อมทั้งปรับปรุงสะพานเทียบเครื่องบินบางส่วน ซึ่งการปรับปรุงดังกล่าวทำให้พื้นที่ห้องพักผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่อง (Hold Room) ชั้น 2 มีพื้นที่จำกัด และระบบปรับอากาศทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งเจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานมิได้นิ่งนอนใจ จึงได้ติดตั้งพัดลมระบายอากาศและติดตั้งตู้แอร์เพิ่มเติม ทั้งนี้ ท่าอากาศยานภูเก็ตได้ทยอยเปิดพื้นที่ที่ปรับปรุงเสร็จทีละส่วน เรามาดูความคืบหน้าของระยะ 2 กันค่ะ
ส่วนที่ปรับปรุงเสร็จเรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนมีนาคม 2561 ได้แก่ พื้นที่ผู้โดยสารขาออก ชั้น 2 ซึ่งเปิดให้บริการพื้นที่ประตูทางออกขึ้นเครื่อง (Boarding Gate) 6 – 7 พร้อมสะพานเทียบเครื่องบิน การเพิ่มพื้นที่โถงทางเดินสำหรับขึ้นเครื่อง 600 ตร.ม. และการเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก หลังจากนั้นเมื่อเดือนเมษายน 2561 ท่าอากาศยานภูเก็ตได้ปรับเพิ่มพื้นที่บริเวณห้องพักผู้โดยสารขาออก 3,000 ตร.ม. รวมถึงเพิ่มห้องน้ำชาย หญิง และคนพิการ อีก 13 ห้อง นอกจากนั้น บริเวณชั้น 1 ท่าอากาศยานภูเก็ตได้เพิ่มพื้นที่ห้องโถงสัมภาระขาเข้า 4,200 ตร.ม. สายพานลำเลียงกระเป๋า 1 เส้น (หมายเลข 8) และเปิดให้บริการประตูทางเข้าผู้โดยสารขาเข้าภายในประเทศ (Bus Gate) จำนวน 2 จุด พร้อมบันไดเลื่อน 1 ชุด รวมทั้งยังได้เพิ่มห้องน้ำอีก 16 ห้อง
ส่วนที่กำลังปรับปรุงในขณะนี้ และคาดว่าจะเสร็จประมาณกลางเดือนพฤษภาคม 2561 ได้แก่ ฝั่งผู้โดยสารขาเข้า ชั้น 1 บริเวณประตูทางออกอาคารหมายเลข 3 จะมีการปรับเพิ่มพื้นที่ 800 ตร.ม.ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับหน่วยงานราชการ บริษัททัวร์ สายการบิน ร้านค้าต่างๆ พร้อมเพิ่มห้องน้ำชาย หญิง และคนพิการ อีก 16 ห้อง ซึ่งจะเปิดให้บริการ ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2561 ส่วนบริเวณฝั่งผู้โดยสารขาออก ชั้น 2 จะมีการเพิ่มพื้นที่ตรวจค้นสัมภาระติดตัวขึ้นเครื่องผู้โดยสารขาออกอีก 350 ตร.ม. โดยเพิ่มเครื่อง X-Ray อีก 3 เครื่อง (จากเดิม 5 เครื่อง) จะเปิดให้บริการในวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 เป็นลำดับถัดไป
และในเดือนมิถุนายน 2561 การปรับปรุงอาคารผู้โดยสารจะเสร็จสิ้น ท่าอากาศยานภูเก็ตจะเพิ่มพื้นที่ให้บริการ ส่วนห้องพักผู้โดยสารขาออกรอขึ้นรถบัสไปยังเครื่องบิน (Bus Gate) ชั้น 1 โดยเพิ่มพื้นที่ 2,100 ตร.ม. เพิ่มประตูทางออก Bus Gate 1 จุด และเพิ่มห้องน้ำ 16 ห้อง และที่ชั้น 2 เปิดให้บริการพื้นที่ห้องพักผู้โดยสารขาออก 3,500 ตร.ม. และประตูทางออกขึ้นเครื่อง (Boarding Gate) 4-5 พร้อมสะพานเทียบเครื่องบิน และห้องน้ำอีก 16 ห้อง คราวนี้ผู้โดยสารจะได้รับความสะดวกสบาย ตลอดระยะทางที่อยู่ในท่าอากาศยานภูเก็ตแห่งนี้ อีกเพียง 2 เดือนเท่านั้น ที่เราจะได้พบกับท่าอากาศยานภูเก็ตโฉมใหม่ บนพื้นที่ที่เพิ่มขึ้น พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก ห้องน้ำสะอาด เก้าอี้นั่งพักผ่อนแสนสบาย จุดเช็คอินและจุดตรวจสัมภาระที่รวดเร็วทันใจ ร้านค้าหลากหลาย ระบบการรักษาความปลอดภัยเข้มงวด ซึ่งสามารถให้บริการเที่ยวบินได้เฉลี่ยถึงวันละ 350 เที่ยวบิน และรองรับผู้โดยสารประมาณ 60,000 คน
เมื่อยกมาตรฐานของการบริการให้ดีขึ้นแล้ว พวกเราคนไทย ในฐานะเจ้าของบ้าน หรือในฐานะนักท่องเที่ยวต่างถิ่นก็ตาม อย่าลืมแบ่งปันน้ำใจต่อกัน รักษาขนบธรรมเนียม ประเพณีไทยเอาไว้ และที่สำคัญ ช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ให้สวยงาม คงอยู่กับเมืองไทยไปนานๆ ด้วยนะคะ