ข่าวการประชุมคณะกรรมการ ทอท.ครั้งที่ 6/2561
ในการประชุมคณะกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ครั้งที่ 1/2561 ในวันพุธที่ 23 พฤษภาคม 2561 ณ สำนักงานใหญ่ ทอท.ซึ่งมีนายประสงค์ พูนธเนศ ประธานกรรมการ ทอท. เป็นประธาน ที่ประชุมมีมติสรุปได้ดังนี้
แนวทางการดำเนินงานและรูปแบบการดำเนินธุรกิจศูนย์ตรวจสอบสินค้าเพื่อการส่งออก (Certify Hub)
คณะกรรมการ ทอท.เห็นชอบในหลักการให้ ทอท.ดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าก่อนส่งออก (Certify Hub) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อบริหารโครงการฯ
ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายพัฒนาระบบการขนส่งสินค้าและบริการด้านโลจิสติกส์ เพื่อผลักดันประเทศไทย สู่การเป็นศูนย์กลางการค้าในภูมิภาคอาเซียน เชื่อมโยงการประกอบธุรกรรมทางการค้าในรูปแบบพาณิชย์ อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) ส่งเสริมการส่งออกสินค้าภาคเกษตรกรรม ให้มีความได้เปรียบสามารถแข่งขันเวทีโลก และจากการที่ได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 โดยกำหนดให้ท่าอากาศยานที่อยู่ภายใต้การบริหารงานของ ทอท.และท่าอากาศยานอู่ตะเภาสามารถประกอบกิจการเขตปลอดอากรโดยไม่ต้องมีใบอนุญาตสำหรับสินค้าที่จะนำเข้ามาเพื่อส่งออกหรือเป็นศูนย์กระจายสินค้า ส่งผลให้มีผู้ใช้บริการที่ต้องการประกอบกิจกรรมเป็นจำนวนมาก กอปรกับในปัจจุบัน ทอท.ได้จัดโครงสร้างการบริหารเขตปลอดอากรและการขนส่งสินค้าทางอากาศใหม่ เพื่อสนองตอบความต้องการในการใช้บริการที่รวดเร็วและปลอดภัยทำให้ยอดการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น 12.45%. อยู่ที่ 1.42 ล้านตันต่อปี
ทอท.จึงได้เสนอโครงการจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าก่อนส่งออก (Certify Hub) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) เพื่อเป็นศูนย์ตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าการเกษตรก่อนส่งออกไปยัง ประเทศปลายทางให้ได้มาตรฐานสากล ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตรโดยการใช้ประโยชน์เขตปลอดอากร ทสภ.ในการรวบรวม คัดแยกและกระจายสินค้าในกลุ่มภูมิภาค และเพิ่มความมั่นใจในการส่งออก รวมทั้งลดปัญหา จากการปฏิเสธการนำเข้าสินค้าจากประเทศปลายทาง และจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อบริหารโครงการในรูปแบบ ทอท.ร่วมทุนกับเอกชน เพื่อให้มีความคล่องตัวในการดำเนินงาน
โดยในเบื้องต้น ทอท.ได้ศึกษาข้อมูลกับท่าอากาศยานที่ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างท่าอากาศยาน (Sister Airport Agreement (SAA)) กับ ทอท.ได้แก่ ท่าอากาศยาน Munich สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อพัฒนารูปแบบการขนส่งสินค้าเน่าเสียง่ายและสินค้าเกษตรระหว่างกัน และท่าอากาศยาน Liege ราชอาณาจักรเบลเยี่ยม ซึ่งเป็นท่าอากาศยานที่ได้จัดให้มีโครงการ Green channel เพื่อตรวจสอบสินค้าเกษตรประเภทไม้ดอก
ก่อนส่งออกจากประเทศต้นทางคือสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเอธิโอเปียมายังประเทศปลายทางราชอาณาจักรเบลเยี่ยม นอกจากนี้ ทอท.ได้เข้าประชุมคณะกรรมการส่งเสริมตลาดเกษตรดิจิตอลเพื่อนำเสนอโครงการ (Certify Hub) ให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ยกระดับการเกษตร 4.0 (ยุทธศาสตร์พระพิรุณ) ที่จัดโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อต่อยอดความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าการเกษตรก่อนส่งออก
ทั้งนี้ ทอท.จะเสนอแนวทางการดำเนินงานโครงการจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าก่อน
ส่งออก (Certify Hub) ต่อกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป
แนวทางการดำเนินโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่
คณะกรรมการ ทอท.เห็นชอบในหลักการให้ ทอท.การดำเนินโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานภูเก็ต แห่งที่ 2 เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้โดยสาร และลดปัญหาความแออัดของท่าอากาศยานในปัจจุบัน
ตามที่ ทอท.ได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของปริมาณการจราจรทางอากาศ ณ ท่าอากาศยาน 6 แห่ง ภายใต้การบริหารงานของ ทอท.ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ท่าอากาศยานภูเก็ต(ทภก.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) ซึ่งได้เติบโตอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น
แต่อย่างไรก็ตาม ทชม.และ ทภก.คาดว่าจะมีปริมาณการจราจรทางอากาศสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากคาดการณ์ปริมาณการจราจรทางอากาศในปี 2581 ทชม.จะมีผู้โดยสารประมาณ 23.33 ล้านคน และจำนวนเที่ยวบิน 137,790 เที่ยวบิน ซึ่งจากแผนแม่บทการพัฒนา ทชม.จะสามารถพัฒนาจนเต็มศักยภาพในปี 2568 โดยมีความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้ 20 ล้านคนต่อปี
ส่วน ทภก.จากคาดการณ์ในปี 2581 จะมีผู้โดยสารประมาณ 42.42 ล้านคน จำนวนเที่ยวบิน 211,150 เที่ยวบิน ซึ่งจากแผนแม่บทการพัฒนา ทภก.จะสามารถพัฒนาจนเต็มศักยภาพในปี 2565 จะมีความสามารถในการรองรับผู้โดยสารที่ 18 ล้านคนต่อปี ดังนั้น แม้ ทอท.จะมีการพัฒนาตามแผนแม่บทในการรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับการเพิ่มขึ้นของปริมาณการขนส่งทางอากาศตามที่มีการคาดการณ์ เนื่องจาก
มีข้อจำกัดของพื้นที่ท่าอากาศยาน จึงต้องมีการเตรียมการดำเนินโครงการก่อสร้าง ทชม.และ ทภก.แห่งที่ 2 เพื่อมิให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ และการแข่งขันของประเทศ
ทอท.ได้มีการศึกษาแนวทางการดำเนินโครงการก่อสร้าง ทชม. และ ทภก.แห่งที่ 2 โดยจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในระยะแรกให้มีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารในเบื้องต้นประมาณ 10-15 ล้านคนต่อปี โดยมี 1 ทางวิ่ง ทั้งนี้จากการสำรวจความเหมาะสมของพื้นที่ก่อสร้าง เช่น ขนาดพื้นที่ ความสะดวกในการเดินทาง ห้วงอากาศไม่ทับซ้อนกับท่าอากาศยานในปัจจุบัน พบว่าพื้นที่เหมาะสมกับการก่อสร้าง ทชม.แห่งที่ 2
ได้แก่ พื้นที่ระหว่างอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ กับอำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน ส่วนพื้นที่เหมาะสมสำหรับการก่อสร้าง ทภก.แห่งที่ 2 ได้แก่ พื้นที่อำเภอโคกกลอย จังหวัดพังงา ซึ่ง ทอท.ได้ประมาณการเบื้องต้นวงเงินลงทุนก่อสร้างท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่ง รวมประมาณ 1.26 แสนล้านบาท
สำหรับพื้นที่ก่อสร้าง คณะกรรมการ ทอท.ให้พิจารณาขนาดที่ดินให้เหมาะสม โดยพิจารณาความสมดุลระหว่างการขยายตัวของสนามบินในอนาคตและระยะเวลาการก่อสร้างที่ต้องไม่ใช้เวลานานจนส่งผลกระทบต่อ
การให้บริการ
ทั้งนี้ ทอท.จะเร่งศึกษาและวิเคราะห์โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ เพื่อนำเสนอกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ รวมทั้งเสนอผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติการลงทุนในโครงการดังกล่าว ซึ่งคาดว่า กระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จและสามารถดำเนินก่อสร้างได้ก่อนระยะเวลาที่ ทชม.และ ทภก.จะเต็ม ขีดความสามารถในการรองรับการใช้บริการผู้โดยสาร
ฝ่ายสื่อสารองค์กร
บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
โทรศัพท์ 0-2535-5554, 0-2535-4097
โทรสาร 0-2535-4099
E-mail : aot_media@airportthai.co.th