ไขข้อข้องใจ “Buffer Zone” ไม่มีบัตรอนุญาต…ห้ามชูป้ายรับผู้โดยสาร

1

Buffer Zone

ไขข้อข้องใจ “Buffer Zone” ไม่มีบัตรอนุญาต...ห้ามชูป้ายรับผู้โดยสาร

ญาติสนิท มิตรสหาย บินลัดฟ้ามาถึงเมืองไทยวันนี้แล้วสินะ ในฐานะเจ้าของบ้าน ก็อยากไปต้อนรับ อวดยิ้มสยาม พร้อมชูป้ายชื่อตัวโตๆ อยู่หน้าประตูทางออกใช่ไหม แต่ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะบริเวณพื้นที่ชั้น 2 ผู้โดยสารขาเข้า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ถือเป็น “เขตควบคุมความปลอดภัยสูงสุดของผู้โดยสาร” ถ้าหากไม่ได้ทำเรื่องขออนุญาตก่อน ก็หมดสิทธิ์เข้าไปนะ

ทำไมต้องจัดโซนความปลอดภัยให้ผู้โดยสารขาเข้า?

ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้กั้นเขตบริเวณทางออกผู้โดยสารขาเข้า และขยายเขตพื้นที่ควบคุม เพื่อให้ผู้โดยสารมีพื้นที่ใช้บริการเพิ่มมากขึ้น โดยกำหนดให้ ตั้งแต่ประตู 4 ถึง 10 เป็นพื้นที่ควบคุม ส่วนประตู 1 ถึง 3 เป็นพื้นที่สาธารณะ สาเหตุที่ต้องจัดโซนเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดก็เพราะปัจจุบัน อาจมีมิจฉาชีพแอบแฝงเข้ามาปะปน ในรูปแบบของไกด์ บริษัททัวร์ พนักงานโรงแรม ซึ่งอาจกระทำการใดๆ ที่ไม่ปลอดภัยต่อชีวิต และทรัพย์สินของผู้โดยสารที่หลงเชื่อ ในฐานะที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเปรียบเสมือนประตูบานแรก จึงต้องวางมาตรการดูแลความปลอดภัย ตลอดจนจัดระเบียบอย่างเคร่งครัด ด้วยการจัดทำพื้นที่ควบคุม (Buffer Zone) เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกัน ไม่ให้กลุ่มมิจฉาชีพเข้ามาใช้โอกาสหลอกลวงผู้โดยสารได้ อีกทั้งผู้โดยสารก็จะได้ใช้เวลาส่วนตัวในการใช้บริการต่างๆ ภายในพื้นที่ควบคุมได้อย่างเสรี ไม่ถูกรบกวนมากเกินไปด้วย

2

นอกจากจัดโซนแล้ว การยกป้ายรับผู้โดยสาร ในเขต Buffer Zone ก็ไม่สามารถกระทำโดยพละการได้ ผู้ที่สามารถยกป้ายได้ จะต้องถือบัตรรักษาความปลอดภัยที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิออกให้ โดยจะต้องเข้ามาทำเรื่องขออนุญาตก่อน ตามกฎดังนี้

1 สมาชิกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว

  • ต้องยื่นเอกสารขอรับนักท่องเที่ยว หรือผู้โดยสาร ต่อพนักงาน ทอท.ผ่านสมาคม ATTA ล่วงหน้า 24 ชั่วโมง และต้องส่งรายชื่อมัคคุเทศก์ หรือ ผู้ที่จะเข้ารับผู้โดยสาร ต่อพนักงาน ทอท. ก่อนเข้าไปรับผู้โดยสารในพื้นที่ Buffer Zone ทุกครั้ง
  • เอกสารขอรับนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนไม่เกิน 5 คน ต้องมีรายชื่อนักท่องเที่ยวแนบมาด้วยทุกครั้ง
  • สำหรับกรณีเอกสารล่าช้า ต้องส่งให้พนักงาน ทอท. ก่อนเครื่องลงไม่เกิน 30 นาที
  • รถที่เข้ามารับผู้โดยสาร จะต้องมีป้าย ระบุชื่อสมาชิก วัน เวลา เที่ยวบิน และหมายเลขทะเบียนรถ ซึ่งออกให้โดยสมาคม ฯ ATTA ติดหน้ารถให้เห็นอย่างเด่นชัด

2.สมาคมโรงแรมไทย

อนุญาตให้ยกป้ายรับได้เฉพาะชื่อโรงแรมเท่านั้น

  • ต้องส่งรายชื่อ และรายการรถยนต์ ที่จะมารับ ให้พนักงาน ทอท. ทราบก่อนเวลา 08.00 น. ของทุกวัน
  • ต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับ ชื่อผู้โดยสาร เที่ยวบิน เวลาเครื่องลง ทะเบียนรถยนต์ที่ผ่านการขออนุญาตจาก ทอท.

 

3

ไม่เพียงเท่านั้น ทอท. ยังควบคุมไปถึงรายชื่อและประวัติ โดยข้อมูลของบุคคลากรที่จะมารับผู้โดยสาร ยานพาหนะ จะต้องส่งอัปเดตให้กับ ทอท. อยู่เสมอ บัตรสมาชิกต้องมีอายุไม่เกิน 1 ปี ตลอดจนข้อมูลของผู้โดยสารหรือนักท่องเที่ยว ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทางสมาคมฯ ต้องชี้แจงรายละเอียดที่ชัดเจนแก่ ทอท. ทราบทุกครั้ง สุดท้ายคือ ป้ายสำหรับแสดงชื่อผู้โดยสาร ต้องมีตราประทับที่เห็นได้ชัดเจนอีกด้วยครับ

4

บทลงโทษสุดโหดสำหรับผู้ฝ่าฝืน

หากพบว่ามีการชูป้ายโดยไม่มีใบอนุญาต ทาง ทอท. ก็ได้วางบทลงโทษ ขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งของการกระทำผิด เช่น หากไม่ส่งบัตรรักษาความปลอดภัยคืนตามเวลาที่กำหนดจำนวน 3 ครั้ง จะไม่อนุญาตให้แลกบัตรเข้าพื้นที่ Buffer Zone 6 เดือน หรือหากเกิน 3 ครั้ง ไม่อนุญาตให้เข้าพื้นที่ตลอดไป หากทำบัตรรักษาความปลอดภัยสูญหายจะไม่ได้รับอนุญาตให้แลกบัตรเข้าพื้นที่ Buffer Zone 6 เดือน หรือ 1 ปี หรือ ไม่อนุญาตให้เข้าอีกตลอดไป

แน่นอนว่าบัตรอาจมีการสวมรอยให้ผู้อื่นนำไปใช้ต่อ ทาง ทอท. จึงมีมาตรการเคร่งครัด หากพบว่าผู้ใช้บัตรมีข้อมูลไม่ตรงกับรายละเอียดที่ให้ไว้กับเจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่อแววพฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้โดยสาร แม้จะเป็นความผิดที่กระทำเป็นครั้งแรกก็จะไม่อนุญาตให้เข้าพื้นที่ควบคุมตลอดไปครับ

บุคคลทั่วไปที่มารอรับผู้โดยสาร ชูป้ายได้หรือไม่?

สำหรับบุคคลทั่วไปที่จำเป็นต้องใช้ป้ายรอรับ ไม่ว่าจะเป็น การพบกันครั้งแรกระหว่างว่าที่พ่อตากับลูกเขยชาวต่างชาติ หลานสาววัยรุ่นที่ไปอยู่ต่างประเทศตั้งแต่ยังเล็กเดินทางกลับมายังบ้านเกิด และอีกหลายสถานการณ์ซึ่งต้องใช้ป้ายเป็นตัวช่วยให้หากันง่ายขึ้น ทาง ทอท. ก็จัดโซนอำนวยความสะดวกเอาไว้นอกเขตพื้นที่ควบคุม บริเวณห้องโถงผู้โดยสารขาเข้า ชั้น 2 ระหว่างประตู 3 และ ประตู 4 แต่ทั้งนี้ ผู้มารอรับก็ต้องไปขอรับแบบฟอร์มการขอยกป้าย โดยแจ้งรายละเอียดชื่อผู้โดยสารที่จะปรากฏบนป้าย เที่ยวบิน และเวลาเครื่องลง พร้อมทั้งชื่อ-ที่อยู่ของผู้มารับ โดยนำบัตรประชาชนให้พนักงานตรวจสอบให้เรียบร้อยก่อน

แต่กรณีที่ผู้มารอรับ เป็นผู้ประกอบการโรงแรม หรือมัคคุเทศก์อิสระ จะต้องรอรับผู้โดยสารบริเวณที่จัดเตรียมไว้สำหรับบุคคลทั่วไปเช่นกัน โดยต้องแจ้งรายละเอียดของผู้โดยสาร เที่ยวบิน บัตรประชาชนของผู้มารับ พร้อมใบรับรองที่ได้รับมอบหมายว่าเป็นตัวแทนของโรงแรม บริษัทนำเที่ยว และหากผู้มารับนำป้ายมาเอง ต้องมาแจ้งรายละเอียดที่ชัดเจนให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อรับรองและลงตราประทับให้เรียบร้อยก่อน

5

Buffer Zone อาจจะทำให้ผู้มารอรับผู้โดยสารต้องถูกจำกัดพื้นที่ และปฏิบัติตัวอยู่ภายใต้กฎระเบียบอันเคร่งครัด แต่ด้วยนโยบายของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นองค์กรที่ยืนหยัดด้านความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล เชื่อเหลือเกินว่า มาตรฐานความปลอดภัย บวกกับคุณภาพการบริการที่ดีเยี่ยม จะส่งผลดีต่อตัวผู้โดยสารและชื่อเสียงของประเทศไทยแน่นอนค่ะ