แถลงการณ์ ทอท. ทอท.วอนมิให้บิดเบือนข้อมูลต่อสาธารณชน
ตามที่คณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณได้มีหนังสือเชิญ
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เข้าชี้แจง ในประเด็นข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 2 (เทอร์มินัล 2) ของ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ด้วยตัวเอง เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ณ อาคารรัฐสภา โดยมี นายไชยา พรหมา เป็นประธาน โดยนายนิตินัย ศิริสมรรถการ ได้ชี้แจงประเด็นที่เป็นข้อสงสัยของกรรมาธิการที่สำคัญ ได้แก่
แผนแม่บท (Master Plan) ทสภ.สามารถปรับเปลี่ยนได้ : โดย ทอท.ได้เริ่มจัดทำแผนแม่บท
(Master Plan) ทสภ.ตั้งแต่ปี 2536 ซึ่งองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) และสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) ได้ศึกษาและแนะนำให้มีการปรับปรุงแผนแม่บทท่าอากาศยานทุกๆ 5 ปี หรือเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญ ดังนั้น ทอท.จึงขอยืนยันว่าในอุตสาหกรรมการบิน ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับแผนแม่บทที่อาจไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง แต่ต้องมีการปรับปรุงตามระยะเวลาที่ ICAO แนะนำ เพื่อให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งานที่เปลี่ยนไป ตามสถานการณ์ในอุตสาหกรรมการบินอย่างแท้จริง รวมทั้งสอดคล้องกับบริบทของธุรกิจการบินที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย
ทอท.ยังคงดำเนินการพัฒนา ทสภ. ในทิศทางตามแผนแม่บทเดิม แต่เพิ่มโครงการเพื่อบรรเทาปัญหาตามความต้องการของผู้ใช้งาน : โดยได้เร่งรัดดำเนินการพัฒนาท่าอากาศยานจากด้านทิศเหนือไปยังทิศใต้ตามแผนพัฒนา ทสภ.เดิม โดยมิได้มีการชะลอโครงการแต่อย่างใด แต่เมื่อ ICAO ได้ปรับปรุงแผนแม่บทตามเกณฑ์กรอบระยะเวลาดังกล่าวข้างต้นในปี 2554 ซึ่งเป็นภาวะที่ ทสภ.รองรับผู้โดยสารเกินขีดความสามารถนั้น ICAO ได้แนะนำให้ปรับปรุงแผนแม่บทเดิม โดยมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในแผนแม่บทฉบับดังกล่าวว่า “จากข้อเสนอเดิม ที่ให้ขยายอาคารที่ปลายทั้ง
ฝั่งตะวันออกและตะวันตกนั้น จะยากมากสำหรับการดำเนินการเมื่ออาคารยังถูกใช้งานเต็มขีดความสามารถอยู่ ดังนั้น
วิธีการแก้ปัญหาคือ การย้ายกระบวนการผู้โดยสารในประเทศไปยังบริเวณอื่น และปรับบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่บริการผู้โดยสารระหว่างประเทศทดแทน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริการน้อยกว่า” นอกจากนี้ ICAO ยังได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติม ว่า “วิธีการที่ดีที่สุดในระยะสั้นคือ การพัฒนาอาคารที่แยกเป็นอิสระต่อเนื่องกับอาคารเทียบเครื่องบิน A เพื่อรองรับผู้โดยสารในประเทศทั้งขาเข้าและขาออก” ซึ่งแผนแม่บทปัจจุบันที่เขียนขึ้นในภาวะที่ ทสภ.รองรับผู้โดยสารเกินขีดความสามารถเช่นกัน แนวทางการก่อสร้างจึงยังยึดหลักการเดิมของ ICAO ที่แนะนำให้ต่อขยายอาคาร เทียบเครื่องบิน A ออกไปในตำแหน่งเดิมที่ ICAO เคยแนะนำทางด้านทิศเหนือ จะมีปรับก็เพียงวิธีการบริหารจัดการอาคารดังกล่าวให้เหมาะสมกับจำนวนและแนวโน้มผู้โดยสารตามคำแนะนำของผู้ใช้งานโดยตรง รวมถึง IATA ซึ่งเป็นผู้แนะนำ ให้มีการปรับปรุงแผนแม่บททุก 5 ปีด้วยเช่นกัน
นอกจากนั้น การก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ ทสภ.ยังมีระบบโครงข่ายคมนาคมทางด้านทิศเหนือ หรือทางด้านถนนมอเตอร์เวย์ มีโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผนแม่บท การพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560 – 2579) ของกรมทางหลวงอยู่แล้ว ในขณะที่ทางด้านทิศใต้ของ ทสภ.ปัจจุบัน มีเพียงทางยกระดับบูรพาวิถีที่เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2548 และยังไม่มีแผนพัฒนาระบบขนส่งเพิ่มเติมเข้าสู่ ทสภ.อีกทั้งระบบสาธารณูปโภคก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ รวมถึงยังจะต้องมีเรื่องการดำเนินการเวนคืนที่ดินบริเวณด้านทิศใต้ของ ทสภ.อีกด้วย โดย ทอท.ได้ทำการเปรียบเทียบสิ่งอำนวยความสะดวก และพื้นที่ให้บริการที่ผู้ใช้บริการจะได้รับ ระหว่างการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออกและตะวันตกกับส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ โดยสังเขป ดังนี้
สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออกและตะวันตก ส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ
พื้นที่อาคาร 132,000 ตารางเมตร 348,000 ตารางเมตร
ช่องตรวจคนเข้าเมืองขาเข้าและขาออก 40/34 เลน 82/66 เลน
จำนวนสายพานรับกระเป๋า 12 สายพาน 17 สายพาน
ถนนบริเวณชานชาลา ไม่มี 1,710 เมตร
อาคารจอดรถ ไม่มี 3,000 คัน
Contact gate ไม่มี 14 Gates
Entertainment and Retail Complex ไม่มี มี
ซึ่งหลังจากการประชุมคณะกรรมาธิการฯ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ หนึ่งในผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ คมชัดลึก “เทอร์มินัล 2 ตัดแปะ ผลประโยชน์มากเกินห้ามใจ” ทางสถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ในประเด็นที่ ทอท.ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ และ ดร.สามารถได้รับทราบเรื่องต่างๆ แล้ว แต่ยังคงนำเสนอสื่อในประเด็นที่ได้รับการชี้แจงในการประชุมกรรมาธิการในลักษณะบิดเบือน อาทิ การได้ยอมรับใน
ที่ประชุมฯ ว่าแผนแม่บท ทสภ.ที่จัดทำขึ้นเมื่อปี 2536 สามารถปรับเปลี่ยนได้ แต่หากมีการยืนยันอย่างย้อนแย้งในรายการว่าแผนแม่บทเดิมปี 2536 ยังคงใช้การได้ดี รวมทั้งได้กล่าวถึงเรื่องการดำเนินการโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้าน ทิศเหนือไม่ทำให้ศักยภาพเพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่มีหลุมจอดเพิ่มขึ้น แม้จะได้รับการชี้แจงจากการประชุมฯ ก่อนหน้าแล้ว ว่าศักยภาพใน Airside ปัจจุบันมีมากเพียงพอที่จะรองรับผู้โดยสารได้ 90 ล้านคนต่อปี แต่ปัญหาในปัจจุบันคือ ความแออัดของพื้นที่ Landside ส่งผลให้เกินขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร
นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอในรายการว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้ ทอท.ระงับการก่อสร้างอาคารส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ ทสภ. โดยที่ได้รับรู้ก่อนหน้าในที่ประชุมฯ อีกเช่นกันว่า ทอท. แจ้งต่อ สศช. แล้วว่า ทอท.ขอให้ชะลอการพิจารณาเรื่องนี้ไปก่อนหน้าเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2561 แต่หาก สศช. ได้มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าว หลัง ทอท. ขอนำเรื่องคืนอาจส่งผลทำให้ข้อมูลที่ สศช. มีไม่สมบูรณ์ครบถ้วน ซึ่งหลังจากนี้ ทอท.จะได้นำเรื่องดังกล่าวพิจารณาใหม่ตามกระบวนการ โดยจะนำเสนอกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นกระทรวงต้นสังกัด และ สศช. เพื่อกลั่นกรองความเหมาะสม ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ทั้งนี้ ในปี 2559 ทอท.ได้นำโครงการพัฒนา ทสภ.ระยะที่ 2 เข้าร่วมเป็นโครงการต้นแบบตามโครงการของ Construction Sector Transparency Initiative: CoST หรือโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐเข้ามาตรวจสอบการดำเนินงาน ซึ่งโครงการก่อสร้างของ ทอท.นั้น จะต้องมีระบบ CoST เข้ามาควบคุมกำกับดูแลให้การดำเนินงานอยู่ภายใต้หลักธรรมาภิบาล โปร่งใส และตรวจสอบได้ ดังนั้น การนำเสนอข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง อันจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ และก่อให้เกิดความสับสนต่อประชาชน ทอท. จะพิจารณาแนวทางในกรณีที่มีการรับรู้ข่าวสารแต่ยังมีการบิดเบือนต่อไป
------------------------------------------------------------
ฝ่ายสื่อสารองค์กร
บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
โทรศัพท์ 0 2535 5245, 0 2535 5240
โทรสาร 0 2535 5216
อีเมล aot_media@airportthai.co.th