AOT จัดงาน Dinner Talk แสดงศักยภาพสนามบินของไทย มุ่งพัฒนาขับเคลื่อนสู่อนาคต

AOT 1
AOT 2
AOT 3
AOT 4
AOT 5
AOT 6
(3 กรกฎาคม 2567) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในงาน Dinner Talk “45 ปี AOT: ENHANCE THE FUTURE (45 ปี AOT: มุ่งมั่นพัฒนาขับเคลื่อนสู่อนาคต)” เนื่องในโอกาสครบรอบ 45 ปี การดำเนินงาน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) โดยมี นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ ผู้ประกอบการและสายการบิน รวมทั้งผู้บริหาร AOT ร่วมในงานฯ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าวว่า ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ทำให้มีการเดินทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายมาตรการ VISA Free ให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีน คาซัคสถาน สาธารณรัฐอินเดียและไต้หวัน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว ส่งผลให้ปริมาณการจราจรทางอากาศ ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) และท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) ในปีงบประมาณ 2567 (เดือนตุลาคม 2566 – พฤษภาคม 2567) ฟื้นตัวจนเกือบจะเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 โดยมีผู้โดยสารรวม 81.05 ล้านคน ฟื้นตัว 83.4% เมื่อเทียบกับช่วงปี 2562 (ก่อนเกิดโควิด-19) แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 48.95 ล้านคน ฟื้นตัว 85.8% และผู้โดยสารภายในประเทศ 32.09 ล้านคน ฟื้นตัว 80% ขณะที่มีเที่ยวบินรวม 490,970 เที่ยวบิน ฟื้นตัว 80.9% แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 274,410 เที่ยวบิน ฟื้นตัว 83.5% และเที่ยวบินภายในประเทศ 216,560 เที่ยวบิน ฟื้นตัว 77.9% โดย AOT ได้ประมาณการปริมาณการจราจรทางอากาศ ณ ท่าอากาศยาน 6 แห่งของ AOT ในอีก 5 ปี (ปี 2572) คาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 170 ล้านคน และมีเที่ยวบินประมาณ 1 ล้านเที่ยวบิน และในอีก 10 ปี (ปี 2577) คาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 210 ล้านคน และมีเที่ยวบินประมาณ 1.2 ล้านเที่ยวบิน
ดร.กีรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากประมาณการดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่วางเป้าหมายผลักดันท่าอากาศยานของไทยให้ติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก และเพิ่มศักยภาพของสนามบินให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 150 ล้านคนต่อปี เพื่อก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) นอกจากนั้น นโยบายของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่กำหนดเป้าหมายตามภารกิจโดยให้การเดินทางของประชาชนได้รับความสะดวกสบาย รวดเร็ว และปลอดภัยในทุกมิติ ดังนั้น AOT จึงมีความมุ่งมั่นที่จะสนองนโยบายของรัฐบาล ซึ่งปัจจุบัน AOT อยู่ระหว่างเร่งดำเนินโครงการพัฒนาท่าอากาศยานให้มีความพร้อมรองรับการเดินทางในอนาคต โดยเฉพาะ ทสภ.ปัจจุบันมีผู้โดยสารมาใช้บริการมากที่สุดกว่า 40 ล้านคน อยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียดโครงการส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก (East Expansion) คาดว่าจะเพิ่มพื้นที่รองรับผู้โดยสารได้อีก 81,000 ตารางเมตร และอยู่ระหว่าง
การเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดให้บริการทางวิ่งเส้นที่ 3 ในช่วงปลายปี 2567 ทำให้สามารถรองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้น จาก 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง นอกจากนี้ AOT ได้วางแผนพัฒนา ทสภ.
อย่างต่อเนื่องจนถึง Ultimate Phase โดยได้วางแผนดำเนินการก่อสร้างโครงการสำคัญต่างๆ ได้แก่ โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันตก (West Expansion) โครงการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 (Satellite 2: SAT-2) โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) และโครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 4 เมื่อทุกโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จคาดว่า ทสภ.จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคนต่อปี และรองรับเที่ยวบินได้ถึง 120 เที่ยวบินต่อชั่วโมง
สำหรับ ทดม.อยู่ระหว่างดำเนินโครงการพัฒนา ทดม. ระยะที่ 3 วงเงินงบประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคนต่อปี เป็น 40 ล้านคนต่อปี โดยจะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ (อาคาร 3) มีพื้นที่ให้บริการกว่า 166,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศได้ 18 ล้านคนต่อปี และจะปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 และ 2 ให้เป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ รองรับผู้โดยสารภายในประเทศได้ 22 ล้านคนต่อปี มีพื้นที่ให้บริการกว่า 210,800 ตารางเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบ คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างในปี 2568 แล้วเสร็จในปี 2573 นอกจากนี้ AOT ยังมีแผนจะปรับปรุงพื้นที่กว่า 21,000 ตารางเมตร เพื่อก่อสร้างอาคารรับรองพิเศษสำหรับเครื่องบินส่วนบุคคล (Private Jet Terminal) รวมถึงกิจกรรมด้านการบินทั่วไป (General Aviation: GA) บริเวณด้านทิศใต้ของ ทดม.ด้วย
ทางด้านภาคใต้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ ทภก.ปัจจุบันรองรับผู้โดยสารกว่า 13 ล้านคน ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินโครงการพัฒนา ทภก. ระยะที่ 2 วงเงินงบประมาณ 6.21 พันล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 12.5 ล้านคนต่อปี เป็น 18 ล้านคนต่อปี โดยจะก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มพื้นที่อีกกว่า 177,000 ตารางเมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2572 สำหรับโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานอันดามัน (ทภก. แห่งที่ 2) บนพื้นที่ 7,300 ไร่ งบประมาณลงทุนประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเพื่อรองรับผู้โดยสาร 22.5 ล้านคนต่อปี ทางวิ่ง 2 เส้น สามารถรองรับเที่ยวบินได้ 43 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และหลุมจอดอากาศยาน 44 หลุมจอดโดยคาดว่าจะตั้งอยู่ในตำบลโคกกลอย และตำบลหล่อยูง อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ห่างจาก ทภก. 23.4 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาเดินทางโดยรถยนต์ประมาณ 26 นาที โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน ตลอดจนกระบวนการจัดตั้งท่าอากาศยาน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 7 ปี
ในส่วนภาคเหนือซึ่งมีผู้โดยสารหนาแน่นเช่นกัน AOT มีแผนจะเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยานให้สามารถรองรับเที่ยวบินและผู้โดยสารได้มากขึ้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินโครงการพัฒนา ทชม. ระยะที่ 1 วงเงินงบประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ มีพื้นที่กว่า 95,000 ตารางเมตร รวมทั้งจะปรับปรุงอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ ทำให้มีพื้นที่ให้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 66,600 ตารางเมตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของ ทชม.ในการรองรับผู้โดยสารได้เป็น 20 ล้านคนต่อปี โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในปี 2569 และสำหรับโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานล้านนา (ทชม. แห่งที่ 2) บนพื้นที่ 8,050 ไร่ งบประมาณลงทุนประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเพื่อรองรับผู้โดยสาร 24 ล้านคนต่อปี ทางวิ่ง 2 เส้น สามารถรองรับเที่ยวบินได้ 41 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และหลุมจอดอากาศยาน 38 หลุมจอดรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศได้ 32,000 ตัน โดยคาดว่าจะตั้งอยู่ในอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน
ซึ่งห่างจาก ทชม. 22 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาเดินทางโดยรถยนต์ประมาณ 32 นาที โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน ตลอดจนกระบวนการจัดตั้งท่าอากาศยาน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 7 ปี
สำหรับการเข้าบริหารท่าอากาศยาน 3 แห่งของกรมท่าอากาศยาน ได้แก่ ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานกระบี่ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 นั้น เมื่อสามารถเข้าบริหารได้แล้ว AOT มีแผนจะพัฒนาท่าอากาศยานอุดรธานีให้สามารถรองรับผู้โดยสารจากปัจจุบัน 3.4 ล้านคนต่อปี เพิ่มเป็น 6.5 ล้านคนต่อปี เที่ยวบินเพิ่มเป็น 20 เที่ยวบินต่อชั่วโมง มีวงเงินลงทุนประมาณ 3,500 ล้านบาท และจะพัฒนาท่าอากาศยานบุรีรัมย์ให้สามารถรองรับผู้โดยสารจากปัจจุบัน 780,000 คนต่อปี เพิ่มเป็น 2.8 ล้านคนต่อปี เที่ยวบินเพิ่มเป็น 25 เที่ยวบินต่อชั่วโมง วงเงินลงทุนประมาณ 460 ล้านบาท สำหรับท่าอากาศยานกระบี่จะพัฒนาให้สามารถรองรับผู้โดยสารจากปัจจุบัน 4 ล้านคนต่อปี เพิ่มเป็น 12 ล้านคนต่อปี และเที่ยวบินเพิ่มเป็น 31 เที่ยวบินต่อชั่วโมง วงเงินลงทุน 6,500 ล้านบาท
นอกจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการขยายท่าอากาศยานไม่ให้เกิดภาพความหนาแน่น เพื่อสร้างความสะดวกสบาย รวดเร็วให้แก่ผู้โดยสาร ตลอดจนเสริมความพร้อมให้กับงานด้านการบริการของ AOT ได้อย่างแข็งแกร่งแล้ว AOT ยังคำนึงถึงการเพิ่มประสิทธิภาพและการยกระดับการให้บริการ (Level of service) ของท่าอากาศยาน เพื่อก้าวเป็นท่าอากาศยานที่ดีในระดับสากล และทะยานสู่ 1 ใน 50 ท่าอากาศยานที่ดีที่สุดในปี 2568 AOT จึงมุ่งมั่นพัฒนาปรับปรุงคุณภาพการบริการโดยจะเร่งดำเนินการปรับปรุง และพัฒนาพื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสาร ทสภ.และ ทภก.ให้มี
สิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานต่างๆ เพิ่มเติมให้ครบถ้วนตามมาตรฐานสนามบินสมัยใหม่ เพื่อตอบสนองต่อความคาดหวังและความต้องการในการใช้บริการของผู้โดยสารได้ดียิ่งขึ้นโดยเร็ว ซึ่งที่ ทสภ.จะเน้นเพิ่มพื้นที่ให้บริการกิจกรรมสันทนาการและความบันเทิง สนามเด็กเล่น พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ พื้นที่สำหรับนั่งทำงาน และ ทภก.จะมีการเพิ่มพื้นที่สำหรับพักผ่อน เพิ่มเก้าอี้นั่งพักคอย สนามเด็กเล่น ทั้งนี้ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการอำนวยความสะดวก ถือเป็นอีกส่วนสำคัญที่จะช่วยส่งมอบประสบการณ์การเดินทางอันน่าประทับใจ เพื่อลดระยะเวลาในกระบวนการผู้โดยสาร ได้แก่ (1) นำระบบ Automatic Border Control (เครื่อง ABC) มาใช้ในการตรวจสอบตัวตนของผู้โดยสาร ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการตรวจสอบที่มีความปลอดภัยสูงและรวดเร็ว สามารถอ่าน E-Passport ได้หลายสัญชาติ และเลือกได้หลายภาษา โดยที่ ทสภ.จะติดตั้งที่จุดตรวจหนังสือเดินทางขาออกจำนวน 72 จุด และจุดตรวจหนังสือขาเข้าจำนวน 16 จุด รวมถึงการจัดให้มีเครื่องเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (Common Use Self Service: CUSS) เพื่อลดระยะเวลาในการรอคิวที่เคาน์เตอร์เช็กอิน และ ระบบ Biometric เพื่อระบุตัวตนผู้โดยสาร โดยใช้เทคโนโลยี Face Recognition ซึ่งหากผู้โดยสารยินยอมให้ระบบจดจำใบหน้าเรียบร้อยแล้ว ผู้โดยสารเพียงแค่เดินผ่านเครื่องสแกนใบหน้าที่ติดตั้งบริเวณจุดตรวจเอกสาร และบริเวณทางออกประตูขึ้นเครื่องได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องแสดงเอกสารหนังสือเดินทางใดๆ ให้กับเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ
สำหรับระบบหลังบ้านที่ใช้ในการบริหารจัดการร่วมกันของหน่วยงานที่ให้บริการในสนามบิน ทั้งในส่วนของสนามบิน สายการบิน ผู้ให้บริการภาคพื้น ผู้ให้บริการการจราจรทางอากาศ โดย AOT ได้พัฒนาระบบการจัดการข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจร่วมกัน หรือเรียกว่า A-CDM (Airport Collaborative Decision Making) โดยหลักการคือจะเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการในท่าอากาศยานแบบเรียลไทม์ (Real-time) เพื่อให้การบริหารจัดการเที่ยวบินและทรัพยากรของสนามบินมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพิ่มความตรงต่อเวลาในการให้บริการ สามารถคาดการณ์และวางแผนการบริหารจัดการได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ AOT ยังใส่ใจกับคุณภาพการให้บริการ จึงมีระบบ Complaints and Suggestions Management (CSM) เพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อร้องเรียนจากผู้โดยสารและผู้เข้ามาเยี่ยมชมผ่านช่องทางแอปพลิเคชัน Sawasdee by AOT รวมถึงสื่อ Social media ที่นิยม เช่น Facebook Instagram และ Tiktok เป็นต้น โดยจะนำข้อคิดเห็นต่างๆ ส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงและพัฒนาต่อไป
ดร.กีรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า AOT เชื่อมั่นว่าการใช้เทคโนโลยีในการอำนวยความสะดวกผู้โดยสารดังกล่าว จะทำให้ภาพของการให้บริการสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยยิ่งขึ้น ซึ่งจากสถิติระหว่างเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา พบว่าเทคโนโลยีทำให้ระยะเวลาของกระบวนการผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ (Embark) ลดลงจาก 42 นาที เหลือเพียง 30 นาที หรือลดลง 30% และระยะเวลาของกระบวนการผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ (Disembark) ลดลงจาก 30 นาที เหลือเพียง 25 นาที หรือลดลง 17% และเพื่อให้การให้บริการของ AOT มีแนวทางการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการให้บริการ รวมถึงเป็นการการันตีว่าการให้บริการของ AOT เทียบเท่ากับสนามบินชั้นนำของโลก AOT จึงได้เข้าร่วมโครงการที่เป็นมาตรฐานสากล ได้แก่ (1) โครงการจัดอันดับคุณภาพการให้บริการท่าอากาศยาน (Airport Service Quality: ASQ) ของสภาสมาคมท่าอากาศยานระหว่างประเทศ (Airports Council International: ACI) ซึ่งจะสำรวจความพึงพอใจของผู้โดยสารในการใช้บริการท่าอากาศยาน และนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ กำหนดกลยุทธ์และจัดทำแผนงาน/โครงการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการของ AOT (2) โครงการ ACI Customer Experience Accreditation ซึ่งเป็นโครงการของ ACI เพื่อประเมินและให้ใบรับรองในด้านบริหารจัดการคุณภาพการบริการและประสบการณ์ลูกค้าได้อย่างยอดเยี่ยม โดยใบรับรองจะมีอายุ 12 เดือนหลังจากได้รับการประกาศจาก ACI ซึ่งท่าอากาศยานที่ได้รับใบรับรองแล้วจะได้รับการประกาศลงในเว็บไซต์และช่องทางประชาสัมพันธ์ของ ACI โดยปัจจุบันท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT ได้ผ่านการประเมินและได้รับใบรับรองอย่างเป็นทางการจาก ACI แล้ว และ (3) โครงการ Skytrax ภายใต้โปรแกรม World Airport Audit ซึ่งเป็นโครงการประเมินมาตรฐานการให้บริการของท่าอากาศยานที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก โดยเป็นการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางของ Skytrax ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยอิสระด้านธุรกิจการบินและการขนส่งทางอากาศของสหราชอาณาจักร ปัจจุบัน ทสภ.ได้สมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าวแล้ว และสำหรับ ทดม. ทชม. ทชร. ทภก. และ ทหญ.จะเข้าร่วมโครงการและมีการประเมินคุณภาพการบริการในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 2567 โดยเมื่อได้รับการประเมินแล้ว AOT จะนำข้อเสนอแนะมาจัดทำเป็นแผนการดำเนินงาน เพื่อยกระดับประสบการณ์เดินทางของผู้โดยสาร เสริมสร้างความพึงพอใจ และพัฒนาคุณภาพการบริการของท่าอากาศยานให้ได้มาตรฐานสากลต่อไป
นอกจากความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและเพิ่มศักยภาพของท่าอากาศยานแล้ว AOT ยังคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน และกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกตระหนักรู้และให้ความสนใจ โดย AOT ได้วางแนวทางบริหารท่าอากาศยานให้เป็นท่าอากาศยานสากลชั้นนำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างยั่งยืน โดย AOT มีนโยบายด้านการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด AOT ได้ตั้งเป้าหมาย Net Zero Target สำหรับการใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยใช้พื้นที่ภายในท่าอากาศยานที่สามารถปรับเปลี่ยนให้เป็นแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์ได้ เช่น พื้นที่บนหลังคาอาคารผู้โดยสาร บ่อน้ำในท่าอากาศยาน AOT ยังมีการเตรียมความพร้อมเรื่องพลังงานจากไฮโดรเจนเพื่อการใช้ไฟฟ้าเอาไว้ใช้ช่วงเวลากลางคืน การออกแบบอาคารประหยัดพลังงาน และ รวมทั้งขณะนี้ AOT อยู่ระหว่างการศึกษาเกี่ยวกับการผลิตน้ำมันอากาศยานจากน้ำมันพืชที่เป็น Bio Source และเตรียมความพร้อมในการจัดหาเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) ให้มีบริการภายในประเทศ รวมถึงหากสามารถผลิตได้เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศก็สามารถส่งออกไปยังประเทศข้างเคียงได้ เพื่อให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคการบินระหว่างประเทศให้เป็นศูนย์ (Net-Zero) ตามที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) ได้ตั้งเป้าหมายไว้ รวมถึงเพื่อเป็นการรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันทางการบินระหว่างประเทศของ AOT ด้วย สำหรับ ทสภ.ซึ่งถือเป็นท่าอากาศยานสากลขนาดใหญ่ รองรับปริมาณการจราจรทางอากาศมากที่สุดของประเทศ ย่อมเกิดการใช้ทรัพยากรมากและอาจก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ดังนั้น AOT จึงมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อน ทสภ.สู่การเป็นต้นแบบ Green Airport หรือท่าอากาศยานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแห่งแรกในประเทศไทย โดย ทสภ.มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการพลังงานอย่างต่อเนื่อง มีระบบการจัดเก็บข้อมูล การจัดการข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูลที่ดี และนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาปรับใช้ภายในท่าอากาศยาน และเป็น
ท่าอากาศยานแห่งแรกที่ติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cell) ซึ่งในระยะแรกติดตั้งบนหลังคาอาคารผู้โดยสารขนาดกำลังผลิต 4.408 เมกะวัตต์ เปิดใช้ในปี 2566 ซึ่งสามารถทำให้ความร้อนภายในอาคารผู้โดยสารลดลงมากกว่า 7 องศา ลดการใช้พลังงานระบบความเย็นภายในอาคารได้ 2% คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 11 ล้านบาทต่อปี สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 3,600 ตัน CO2e ต่อปี หรือเทียบเท่ากับจำนวนต้นไม้ 360,000 ต้นต่อปีที่ต้องใช้ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ และปัจจุบัน AOT อยู่ระหว่างเตรียมการติดตั้ง Solar Cell ระยะที่ 2 ภายในพื้นที่ ทสภ. มีขนาดกำลังผลิตรวมเพิ่มขึ้นอีก 33.41 เมกะวัตต์ ทั้งในรูปแบบของการติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) และการติดตั้งบนผืนน้ำ (Solar Floating) ซึ่งเมื่อดำเนินการทั้ง 2 ระยะเสร็จสิ้น จะทำให้ ทสภ.มีขนาดกำลังผลิตถึง 37.81 เมกะวัตต์ และสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ถึง 555,686.271 ตัน CO2e ตลอดอายุโครงการ 20 ปี
ดร.กีรติ กล่าวว่า จากการดำเนินการของ ทดม. ทภก. และ ทชม.ที่ผ่านมาในช่วงระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม 2566 – 30 มีนาคม 2567 เทียบกับช่วงก่อนดำเนินการ (ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม 2565 – 25 มีนาคม 2566) สามารถบริหารจัดการเที่ยวบินได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดย ทดม.สามารถเพิ่ม slot เที่ยวบินจากเดิม 50 เที่ยวบิน เป็น 57 เที่ยวบิน
ทำให้ผู้โดยสารและเที่ยวบินเพิ่มขึ้น 12% รายได้เพิ่มขึ้น 520 ล้านบาท ส่วน ทภก.สามารถเพิ่ม slot เที่ยวบินจากเดิม 20 เที่ยวบิน เป็น 25 เที่ยวบิน ทำให้ผู้โดยสารและเที่ยวบินเพิ่มขึ้น 18% รายได้เพิ่มขึ้น 640 ล้านบาท และ ทชม.ซึ่งได้ขยายระยะเวลาในการเปิดให้บริการเป็น 24 ชั่วโมง ทำให้มีผู้โดยสารและเที่ยวบินเพิ่มขึ้น 5% และมีรายได้เพิ่มขึ้น 80 ล้านบาท ทั้งนี้ AOT คาดการณ์ว่า หากเปิดใช้งานทางวิ่งเส้นที่ 3 ทสภ.จะทำให้ในปี 2568 มีเที่ยวบินเพิ่มเป็น 75 เที่ยวบิน มีรายได้ 4,718.24 ล้านบาท ปี 2569 จะมีเที่ยวบิน 85 เที่ยวบิน มีรายได้ 8,561.54 ล้านบาท และปี 2570 จะมีเที่ยวบิน 94 เที่ยวบิน และมีรายได้ 9,090.52 ล้านบาท
ดร.กีรติ กล่าวในตอนท้ายว่า AOT มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจตามวิสัยทัศน์องค์กรที่จะก้าวสู่การเป็น “ผู้ให้บริการ ท่าอากาศยานที่ดีระดับโลก” ด้วยการส่งมอบการบริการที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยบนมาตรฐานสากล พร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมนโยบายศูนย์กลางการบินของรัฐบาล ซึ่งท่าอากาศยานถือเป็นประตูต้อนรับนักเดินทางและเป็นฟันเฟืองหลักในการกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบิน ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และ AOT มีความตั้งใจแน่วแน่ต่อการพัฒนาองค์กรในด้านการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ควบคู่ไปกับการจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน