AOT ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเพิ่มเติมให้ครอบคลุมทุกสัญญาและสอดคล้องกับสถานการณ์ COVID-19

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT)
กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ส่งผลให้ประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยประกาศ
จำกัดการเดินทางเข้าหรือออกนอกประเทศเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้การเดินทางทั้งภายในประเทศ
และระหว่างประเทศหยุดชะงัก รวมถึงจำนวนผู้โดยสารที่มาใช้บริการ ณ สนามบินของ AOT โดยรวมลดลงอย่างต่อเนื่อง
ส่งผลกระทบให้ผู้ประกอบการและสายการบินกว่า 1,000 สัญญา มีรายได้ลดลงในขณะที่ต้องรับภาระจากค่าใช้จ่ายต่างๆ ดังนั้น AOT ในฐานะรัฐพาณิชย์ได้มีมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบการ จากการลดลงของ
จำนวนผู้โดยสาร และสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ โดยในการประชุมคณะกรรมการ AOT ครั้งที่ 3/2563
เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ประชุมได้มีมติอนุมัติแนวทางให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เป็นคู่สัญญากับ AOT ซึ่งได้มีการเรียกเก็บเฉพาะค่าผลประโยชน์ตอบแทนในอัตราร้อยละจากยอดขายสินค้า โดยไม่เรียกเก็บผลตอบแทนขั้นต่ำ กล่าวคือ หากผู้ประกอบการมีรายได้จากการขายมากหรือน้อย AOT จะได้ส่วนแบ่งมากหรือน้อยตามสัดส่วนด้วยเช่นกัน ซึ่งมาตรการดังกล่าวเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมาจนถึง 31 มีนาคม 2565 รวมทั้งได้ขยายระยะเวลาการชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนในการประกอบกิจการของผู้ประกอบการสำหรับงวดที่ครบกำหนดชำระตั้งแต่
เดือนกุมภาพันธ์ – กรกฎาคม 2563 ออกไปเป็นระยะเวลา 6 เดือน จากวันครบกำหนดชำระตามระยะเวลาปกติให้กับผู้ประกอบการที่ร้องขอ

ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการ AOT ครั้งที่ 5/2563 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563 ที่ประชุมมีมติอนุมัติกำหนดอัตราค่าผลประโยชน์ตอบแทนคงที่และอัตราค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำจากการประกอบกิจกรรม
เชิงพาณิชย์ภายหลังสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการข้างต้น กล่าวคือ เมื่อสิ้นสุดมาตรการให้ความช่วยเหลือ   ในวันที่ 31 มีนาคม 2565 แล้ว AOT จะเรียกเก็บเงินค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำโดยใช้อัตราผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของปี 2562 เป็นฐานของการคำนวณ นอกจากนี้ มติที่ประชุมในวันดังกล่าวยังได้มีการขยายมาตรการช่วยเหลือให้กับผู้ประกอบการสายการบินเพิ่มเติม อาทิ การเรียกเก็บค่า Landing และ Parking ในอัตราร้อยละ 50 ในส่วนของ   ค่าเช่าและค่าใช้อาคาร หากผู้ประกอบการประสงค์เปิดขายเก็บร้อยละ 50 แต่หากมีหนังสือร้องขอเพื่อปิดกิจการชั่วคราว AOT ไม่เก็บค่าเช่า และให้ผู้ประกอบการรวมทั้งสายการบินเลื่อนการชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าวข้างต้นในการประกอบกิจการของผู้ประกอบการและสายการบินสำหรับงวดที่ครบกำหนดชำระตามระยะเวลาปกติ ออกไปเป็นระยะเวลา 6 เดือน จนถึงเดือนธันวาคม 2563 ตามที่ผู้ประกอบการและสายการบินร้องขออีกด้วย

ล่าสุดเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ยังไม่คลี่คลายลง ในการประชุมคณะกรรมการ AOT ครั้งที่ 8/2563 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ที่ประชุมได้มีมติขยายระยะเวลาการเลื่อนชำระ    ค่าผลประโยชน์ตอบแทนในการประกอบกิจการของผู้ประกอบการและสายการบินอีกครั้ง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและสายการบินที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ณ สนามบินของ AOT ทั้ง 6 แห่ง สำหรับงวดที่ครบกำหนดชำระตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - กรกฎาคม 2563 จาก 6 เดือน เป็น 12 เดือน

อย่างไรก็ตาม ในส่วนงานประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์
ซึ่งกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ประกอบกิจการ ณ สนามบินในความรับผิดชอบของ AOT ด้วยวิธีประมูลเสนอราคา กำหนดอายุสัญญา 10 ปี 6 เดือน ระหว่างวันที่ 28 กันยายน 2563 – 31 มีนาคม 2574 ซึ่งในช่วง 6 เดือนแรกของสัญญา จะเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการเข้าปรับปรุงพื้นที่ร้านค้าทั้งภายในอาคารผู้โดยสารหลัก และภายในอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT-1) นั้น เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้ส่งผลต่อแผนการเปิดใช้อาคาร SAT-1 ณ ทสภ.ซึ่งเดิมมีกำหนดเปิดให้บริการภายในปี 2563 แต่จากสถานการณ์ COVID-19 ได้ส่งผลให้วัสดุอุปกรณ์ในงานก่อสร้างหลายรายการ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญที่มาทดสอบระบบไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ ทำให้ภาพรวมของการทดสอบการเตรียมความพร้อมการเปิดให้บริการ (Operation Readiness and Airport Transfer : ORAT) สำหรับอาคาร SAT-1 ณ ทสภ. ต้องเลื่อนออกไป โดยคาดว่าจะสามารถทำการทดสอบระบบการปฏิบัติงานต่างๆ ร่วมกันแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2565 ทั้งนี้ AOT
ได้จัดทำคาดการณ์ปริมาณจราจรทางอากาศในอนาคตของสนามบินที่อยู่ในความรับผิดชอบของ AOT ที่คาดว่า
จะกลับมาเพิ่มขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปจนถึงระดับปกติของปี 2562 ในเดือนตุลาคม 2565 ซึ่ง AOT ต้องพิจารณากำหนดการเปิดใช้บริการอาคาร SAT-1 ณ ทสภ. ให้สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสารที่ลดลง รวมทั้งต้องพิจารณา
ค่าใช้จ่าย และค่าเสื่อมราคาที่จะเกิดขึ้นจากการเปิดใช้งานอาคารดังกล่าว ให้สอดคล้องกับประมาณการรายได้ต่อไป

จากสถานการณ์ข้างต้น จึงส่งผลให้ผู้ประกอบการกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ไม่สามารถดำเนินงานตามแผนภายใต้สัญญาเดิมได้ เนื่องจากแผนดำเนินงานของผู้ประกอบการต้องติดต่อประสานกับ supplier นำเข้าสินค้าวัสดุอุปกรณ์
จากต่างประเทศที่มีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน สินค้าแบรนด์เนมหลายรายการมีการผลิตและจำหน่ายตามฤดูกาล
ความไม่ชัดเจนในการเปิดให้บริการของอาคาร SAT-1 ณ ทสภ. นั้น ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินการประสาน
กับ supplier ผู้นำเข้าสินค้าได้ อีกทั้งการเข้าดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสารและอาคาร SAT-1 ณ ทสภ. ผู้ประกอบการอาจเข้าปรับปรุงพื้นที่ได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ดังนั้น AOT จึงได้มีการเจรจากับผู้ประกอบการ เพื่อกำหนดวันเริ่มต้นอายุสัญญาให้สอดคล้องกับการเปิดใช้อาคาร SAT-1 ณ ทสภ. คือในเดือนเมษายน 2565

ในส่วนของการเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำนั้น นอกจากผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19
ที่ทำให้การเดินทางลดลงแล้ว ประกอบกับประเทศไทยได้มีการจำกัดการเปิดน่านฟ้าเป็นการทั่วไป จึงทำให้ท่าอากาศยานของ AOT ไม่สามารถมีผู้โดยสารมาใช้บริการได้ตามความคาดหมาย AOT จึงยังคงผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำต่อผู้โดยสาร (Sharing per Head) ตามที่กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ เสนอมาในการประมูล และปรับขึ้นตามสัญญาเดิมหลังจากมาตรการช่วยเหลือเบื้องต้นสิ้นสุดลงในเดือนมีนาคม 2565 โดยค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำโดยรวมจะ   แปรผันตามจำนวนผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจริง ทั้งนี้ AOT พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วว่าเป็นทางเลือกที่ให้ผลประโยชน์   ตอบแทนกับ AOT สูงที่สุด

 

-------------------------------------------------------------------

 

ฉบับที่ 33 / 2563 วันที่ 30 กรกฎาคม 2563

ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

โทรศัพท์ 0 2535 5240, 0 2535 5245

โทรสาร 0 2535 5216

อีเมล aot_media@airportthai.co.th

เว็บไซต์ www.airportthai.co.th